พลังงานทางเลือก อนาคตที่ยังไปไม่ถึงความจริง

 

ปัญหาราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ปัญหามูลค่าพลังงานที่ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ขยับแล้วถีบตัวทะยาน เป็นภาระหนักแก่ผู้บริโภค โดยเฉพาะประชาชนผู้หาเข้ากินค่ำนั้น เผชิญกับภาวะตึงเครียดหวั่นวิตกมาก ซึ่งรัฐบาลเอง ก็พยายามปรับยุทธศาสตร์ ปรับนโยบาย ออกมาตรการ (ใหม่ๆ แปลกๆ) มาเป็นระลอกๆ ซึ่งถึงกระนั้นก็ต้องยอมรับว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ ไม่ว่าใคร รัฐบาลไหน ในโลกสีใด ล้วนแล้วแต่บอบช้ำ และไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะการเผชิญหน้ากับปัญหาพลังงานวันนี้ กำลังสะท้อนวิธีคิดแบบทั้ง หมัดต่อหมัด และ โอกาสไปสู่ภาวะประสบชัยชนะในเรื่องการวางระบบการ ผลิตและใช้พลังงานอย่างยั่งยืนและเท่าเทียมกัน

หลายๆ ครั้งที่นักอนาคตศาสตร์ด้านพลังงานพยายามออกมาย้ำเตือนว่า การพึ่งพิงพลังใด พลังงานหนึ่ง เป็นการเฉพาะมากเกินไป ไม่สามารถประกันความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประชาชนได้ ซึ่งตามนโยบายของสำนักงานพลังงานแห่งชาติ กฟผ. หรือสถาบันพลังงานอื่นๆ ที่รับผิดชอบต่อนโยบาย กลับยังก็ไม่แจ่มชัดพอ ถึงปรัชญาที่ต้อง ข้ามไปให้พ้นภาวะความเสี่ยงซ่อนแฝง หรือลดภาวะความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด

ที่ผ่านๆ มา แม้จะสำรองพลังงานเพื่อประกันความเสี่ยง ก็สำรอง บนฐานคิดการผูกมัดพลังงานเชิงเดี่ยว เมื่อราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น ต้นทุนก๊าซพุ่งตาม พลังงานอื่นพุ่งด้วย จน กฟผ. ยอมประกาศ ลดเป้าพลังงานไฟฟ้าสำรองจาก 25% เหลือเพียง 15% เพื่อลดค่าใช้จ่าย

เป็นความจริงที่การไฟฟ้าในประเทศไทยพึ่งพาแหล่งพลังงานก๊าซธรรมชาติ เป็นหลัก หรือในสัดส่วนที่สูงขึ้นมาก แต่การหนีจากภาวะความเสี่ยงไปหา เชื้อเพลิงอื่นโดยเฉพาะถ่านหิน อย่างที่ เวียงแหง เชียงใหม่ และ บ่อนอก ประจวบคีรีขันธ์ หรือแม้แต่ใช้ก๊าซอย่างเดียวอย่างที่ แก่งคอย สระบุรี นั้น ณ วันนี้ยิ่งไม่ใช่คำตอบเดียวแล้ว เนื่องเพราะว่า ด้านหนึ่งในเอเชีย ซึ่งรวมทั้งไทย มีก๊าซสำรองอยู่มากก็จริง แต่ก็ทวีปริมาณการใช้อย่างมโหฬาร ในขณะที่ในด้านสังคมกลับเกิดผลกระทบและสร้างแรงกดดันเพราะการคัดค้าน โครงการการขยายขนาดพลังมากขึ้นทุกวัน

 

นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการเพื่อคนจน ย้ำว่า ปัญหาเรื่องพลังงาน สถาบันพลังงานน่าจะใช้โอกาสของความผิดพลาดจากการคำนวณส่งเสริม ผลักดัน ให้เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทางเลือกจะเหมาะสมกว่า เพราะพลังงานทางเลือกที่ใกล้ตัวที่สุด และได้ราคาการผลิตที่ ใกล้เคียงกับแหล่งพลังงานอื่น ซึ่งก็คือผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล ซึ่งเวลานี้มีโครงการโรงไฟฟ้าขนาดเล็กชีวมวลนี้ ที่มีข้อผูกพันกับ กฟผ. ว่าจะผลิตไฟฟ้าเข้าระบบอีกถึง 5,000 เมกะวัตต์

และ แม้ว่าพลังงานทางเลือกต้นทุนอาจจะแพงกว่า แต่พลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินซึ่งคำนวณไว้ต่ำนั้น กลับมีภาระต้นทุน ทางสังคมสิ่งแวดล้อมสูงมาก เช่นโรงไฟฟ้าถ่านหินที่แม่เมาะ ที่ปล่อยกำมะถันออกมา ทำให้ชาวบ้าน, พืชและ สัตว์ ล้มป่วยเจ็บ และตาย หรือโครงการทำเหมืองถ่านหินที่เวียงแหง ก็เช่นกัน

แต่ ในทางตรงกันข้าม พลังงานทางเลือกให้ผลได้แก่สังคมซึ่งไม่เคยนำเอามาคำนวณเพื่อ หักต้นทุนลงไป หลายอย่าง เช่นพลังงานชีวมวลทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น ดังนั้นโครงการประหยัดพลังงานทั้งหลายนอกจากทำกำไรแล้ว ยังก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น

ฉะนั้น ถ้าถือหลักการประโยชน์ของสังคมเป็นที่ตั้งแล้ว การลงทุนบุกเบิกพลังงานทางเลือกอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น พลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานลม, พลังงานคลื่น, การผลิตไฟฟ้าจากคอกหมู และถังส้วมที่มีผู้ใช้มาก ฯลฯ ล้วนเป็นการลงทุนที่ให้ผลคุ้มค่าทั้งสิ้น (พลังงานทางเลือก http://www.geocities.com/thaifreeman/articles/niti1.html , อ้างเมื่อ 19 สิงหาคม 2548)

นอกจากการพูดถึงปัญหาพลังงานและนโยบายการสำรองพลังงงานของชาติที่ ซึ่งกำลังเป็นปัญหาภาวะความเสี่ยงแฝงแล้ว ยังมองเห็นกระบวนการคิดที่ผูกขาดและมีมิติเชิงเดี่ยวเกี่ยวกับตัวเชื้อเพลิงมากเกิน ซึ่งในความเป็นจริงในปัจจุบัน โลกใบนี้มีพลังงานทางเลือก ไว้สำหรับผู้บริโภค หรือให้รัฐนำมาพัฒนาสำรองได้อีกมาก

อาทิ พลังงานจากขยะ วัชพืช ชีวมวล ลม แสงอาทิตย์ หรือที่ฮอตฮิตก็คง ไบโอดีเซลหรือแม้แต่ แกลบ ก็ถูกพัฒนามาเป็นพลังงานได้ คือโรงไฟฟ้าแกลบที่ซึ่งขายไฟฟ้าให้กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปแล้ว มีจำนวนถึง 4 โรง มีกำลังการผลิตรวม 66 เมกะวัตต์ โดย เริ่มผลิตตั้งแต่ พ.ศ.2541 และกำลังจะได้รับการสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน ให้ดำเนินงานเพื่อผลิตไฟฟ้าป้อนเข้าสู่ระบบอีก 13 โครงการ รวมเป็นกำลังการผลิต เพิ่มอีกประมาณ 312 เมกะวัตต์ หรือมากกว่ากำลังการผลิตติดตั้งของเขื่อนปากมูลกว่า 2 เท่า

ถึงกระนั้น พลังงานทางเลือกก็ยังต้องฝ่าฟันอุปสรรค เนื่องจากราคาการรับซื้อไฟฟ้าค่อนข้างต่ำ เพราะคิดบนฐานของโรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันเตา ในขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้โดยทั่วไปแล้วมีขนาดเล็กกว่า มีระดับการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่ยังไม่เอื้อเท่ากับเทคโนโลยีโรงงานที่ใช้พลังงานน้ำมันเตา และยังมีกฎระเบียบบางประการที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้ปัจจุบันโรงไฟฟ้าพลังแกลบยังมีต้นทุนต่อหน่วยของการลงทุนสูงกว่า(โลกสีเขียว ปีที่ 11 ฉบับที่ 4 กันยายน-ตุลาคม 2545
http://www.environnet.in.th/evdb/science/technology/05.html, อ้างเมื่อ 19 สิงหาคม 2548)

ถึงกระนั้นเมื่อไม่นานมานี้ ข้อเสนอแนะบนเวทีเคลื่อนไหวเรื่องพลังงานทางเลือก ณ อาศรมพลังงาน อ.ปากช่อง นครราชสีมา ก็ยังเน้นข้อสรุปเดิมคือเสนอให้ระดับนโยบาย รับแนวคิดพลังงานทางเลือกไปพิจารณาโดยคำนึงถึงความเหมาะในด้านต่างๆ เป็นหลัก และยังเสนอมาตรการต่างๆ ในการเพิ่มขนาดความประหยัดพลังงานพร้อมทั้ง ให้ข้อสังเกตถึงการที่รัฐจะหันมาพัฒนาไบโอดีเซลอีกด้วย

 

ศ.ดร.ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ นักวิชาการด้านพลังงาน นั้นเน้นให้รัฐมีมาตรการออกมาหลายๆ มาตรการอย่างสัมพันธ์กัน ทั้งในแง่ มาตรการภาษีตามระดับขนาดเครื่องยนต์ คือเครื่องยนต์สมัยใหม่ ซึ่งมี C.C สูง นั้นประหยัดพลังงานมากกว่า เครื่องยนต์ที่มี C.C. ต่ำ จึงน่าจะเก็บภาษีตามประสิทธิภาพการใช้ เชื้อเพลิง อีกอย่างปัญหาผู้ผลิตเครื่องยนต์ก็สำคัญ เพราะประเทศอุตสาหกรรม ทำเครื่องยนต์ที่มีประสิทธิภาพต่ำ มาขายให้ประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งทำให้ประเทศกำลังพัฒนาต้องรับภาระทั้งมลพิษและต้นทุนพลังงานสูงกว่ามาก

ส่วนในแง่พลังงานน้ำมัน นั้นย้ำว่า อีก 2 ปี จะมี เอทานอลใช้ ซึ่งสำคัญมาก ดังนั้นรัฐบาลอย่าเล่นส่งเสริมพลังงานตามกระแส เพราะนโยบายพลังงาน อย่างแรกต้องประหยัด และสองต้องเป็นพลังงานทดแทนได้ ซึ่งต้องเข้าไปในปริมาณการใช้ ให้ถึง 60% ส่วนจะเป็นพลังงานทดแทนอะไร รัฐต้องส่งเสริมการวิจัยออกมาให้ชัด

เพราะปัจจุบันประเทศไทยใช้พลังงานไฟฟ้า มากเกือบ 40,000 เมกะวัตต์ กับพลังงานแสงอาทิตย์ นั้นมีปัญหาทั้งเรื่องต้นทุนและการจัดการเทคโนโลยีหลังหมดอายุแล้วด้วย ดังนั้นการคิดถึงเรื่องนี้ ก็ต้องมองให้ครบ เพราะซิลิคอน สารผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ กำจัดยาก ต้นทุนสูง ดังนั้น ไม่ควรโฆษณาว่า พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นพลังงานบริสุทธิ์

และการแก้ปัญหาพลังงาน รัฐบาลต้องแก้ทั้งปัญหาเฉพาะหน้าและปัญหาระยะยาว ปัญหาเฉพาะหน้าอาทิ ปริมาณน้ำมันสำหรับ การคมนาคมขนส่ง นั้นใช้ปี 2 หมื่นล้านลิตร ลองเอา 20 บาทคูณ คิดว่าจะเป็นเงินเท่าไหร่ ซึ่งน้ำมันเชื้อเพลิง ก็มาจากน้ำมันดิบ ที่สั่งซื้อทั้งหมด

การแก้ปัญหา เฉพาะหน้า เพื่อลดพลังงานน้ำมันโดยการใช้ ก๊าซธรรมชาติ กรณีประเทศอาเจนติน่า นั้นใช้ก๊าซเป็นพลังงานขนส่งมานานเกือบ 20 ปี โดยเฉพาะใช้ในระบบขนส่งมวลชน ทั้งหมด และรถบรรทุกทั้งหมด มากถึง 50%

กลับกัน ไทยซึ่งใช้น้ำมันดีเซล นั้นมีฝุ่นละอองมาก อย่างใน กรุงเทพฯ นั้นวิกฤติแล้ว แต่ก๊าซธรรมชาติไม่มีฝุ่นละออง ข้อเสียของก๊าซคือ ราคาเครื่องยนต์สูงกว่ามาก แต่ถ้านำมาหักลบกับต้นทุนด้านสุขภาพ ก็ยังนับว่าคุ้มทุนมาก ค่ามลพิษที่เกิดขึ้นจากการใช้พลังงานน้ำมัน ก็หาทางออกอีกอย่างคือ ใครใช้มากก็เก็บภาษีมาก เพราะ มลพิษตัวร้ายคือ คอร์บอนมอนน๊อกไซต์ ที่ยุโรปพูดถึงปัญหานี้แรงมาก จึงมีนโยบายเน้นเลยว่า รถยนต์ขนส่งต้องใช้ก๊าซ อาทิ รถบรรทุก รถโดยสาร จะบังคับใช้ก๊าซธรรมชาติ แล้วรัฐจะลดภาษีให้

แต่การใช้ก๊าซก็มีปัญหาคือ สถานีไม่เพียงพอ ซึ่งหากต้องการแก้ปัญหา ทำไมไม่เพิ่มสถานีก๊าซธรรมชาติ ให้มากกว่านี้ ทำไม ปตท.ไม่ลงทุนทำ หรือ ในเชิงนโยบาย วางไว้ให้ชัดเลย และขบวนการภาคประชาชนต้องออกมาถาม เพราะจะเอาอย่างเดียวไม่ได้ โดยอาจจะเคลียร์ปัญหาเรื่องเครื่องยนต์ก่อน

อย่างกรณีจีน ใช้เอทานอล ไปแล้ว และที่สำคัญเขาอาศัยความคิดนี้เรา จากคนไทยไปพัฒนาใช้ ซึ่งเครื่องยนต์ดีเซลสามารถใช้กับเอทานอลได้ ดังนั้น เราต้องมีงานวิจัย ต้องทำวิจัยพัฒนาทิศทางให้ถูกต้องเสียที

อย่าง ไบโอ + เอทานอล ที่ยุโรป ตั้งใจจะให้ปี 2010 สามารถใช้ ไบโอดีเซล ได้ถึง 5% ของผู้ใช้พลังงานซึ่งในด้านหนึ่งอาจจะต้องจีเอ็มโอ จากพืชตระกูลปาล์ม แต่ปัญหา คือมันจะพอหรือไม่ เพราะน้ำมันปาล์ม มันมีมูลค่า ในอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องสำอาง โลชั่น ความต้องการส่วนนี้เองก็สูงมาก หรือสบู่ดำ ก็น่าสนใจ หากใช้จีเอ็มโอ ก็น่าจะทำได้ เพราะมันไม่ใช่อาหาร พืชตระกูลเรฟซีด ก็น่าสนใจ ส่วนการนำน้ำมันพืชเก่าๆ มารีไซเคิลเป็นน้ำมันไบโอดีเซล ก็น่าสนใจ แต่ก็มีปัญหา เช่นกันคือ วัตถุดิบไม่พอ พลังงานน้ำมันไบโอ คำนวนคร่าวๆ อาจจะสามารถผลิตได้สูงสุดที่ปีละ 1 ล้านลิตร ในขณะที่เราใช้พลังงานปีละ 4 หมื่นล้านลิตร ซึ่งเปรียบเทียบแล้วน้อยมาก

นอกจากนั้น ยังมีที่น่าสนใจคือ เอาแป้งมาทำ เนื่องจากแป้งมีไฮโดรคาร์บอนโดยตรง เพราะแอลกอฮอล ก็มาจากน้ำตาล การนำแป้งมาเป็นพลังงานโดยตรงก็กำลังทำกรวิจัย ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ แต่จะแพงแค่ไหนก็คงต้องรอดู

ส่วนถ่านหิน นิวเคลียร์ เป็นพลังงานที่มีต้นทุนสูงมาก อย่างถ่านหินในปัจจุบันนี้ก็มี C.O. สูงขึ้น เจนเนอเรชั่นก็ดีขึ้น เท่าก๊าซ แต่ข้อดีคือ ถ่านหินที่นำมาทำพลังงานไฟฟ้าสามารถเก็บความร้อนได้หมด

มองที่เขื่อนพลังน้ำก็เป็นปัญหา เพราะเรามักสร้างแต่เขื่อนใหญ่ๆ แต่มันมีวิธีคิดเรื่องเขื่อนขนาดเล็ก ซึ่งผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นผลพลอยได้ ก็น่าสนใจ การจัดการทรัพยากรน้ำ อย่าพยายามมองมองแต่ไฟฟ้าอย่างเดียว มองเขื่อนขนาดเล็ก และต้องพิจารณาพร้อมๆ กับ การใช้ทรัพยากรน้ำ ด้านอื่นๆ พร้อมๆกัน เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ คือตัวอย่างที่ดี

เรื่องพลังงานลม ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่พัฒนาไปได้ไกลมาก รับกระแสลมที่ความสูง 40 เมตร ขึ้นไป ซึ่งมีข้อดีคือ มีลมมีทั้งวันทั้งคืน พื้นที่เหมาะสมคือริมชายทะเล เป็นพลังงานที่ดีกว่าแสงอาทิตย์ แต่ข้อเสียคือทำให้ชายหาดสวยๆ เสียทิวทัศน์ไป

กรณีที่ฟิลิปปินส์ เขาใช้ไม้โตเร็วมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า อาทิ กระถิน ยูคาร์ลิปตัส ซึ่งก็น่าสนใจ ทำเป็นสวนป่า ผลิต สัก 25 เมกะวัตต์

เพราะผมเชื่อว่าอีกไม่เกิน 20 ปี พลังงานสะอาดจะมาทดแทน พลังงานแสงอาทิตย์นี่มาแน่ เชื้อเพลิงมาแน่ นิวเคลียร์มาแน่ กรณีนิวเคลียร์ ถ้าน้ำมันแพงแบบนี้ แพงไม่หยุด มีโอกาสสูงที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะกลับมาอีก แต่ความน่าวิตกคือ ในสถานการณ์ก่อการร้ายกำลังคุกคาม เราจะปกป้องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้หรือไม่ อย่างไรครับ?”

 

 

Make a Free Website with Yola.